วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล

ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยกับภาษาอังกฤษที่มีผลต่อการแปล
คำว่า โครงสร้างตรงกับคำภาษาอังกฤษว่า “structure” ซึ่งพจนานุกรม The American Heritage Dictionary of the English Language (1980:1278) ให้ความหมายไว้ 5 ประการ คือ 1) a complex entity. 2) a. The configuration of element, parts, or constituents in such and an entity; organization; arrangement. b. constitution; make-up. 3) The interrelation of parts or the principle of organization in a complex entity.    4) Relatively intricate or extensive organization: an elaborate electric structure. 5) Something constructed, especially, a building or part.
โครงสร้างเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเรียนรู้ โครงสร้างเป็นสิ่งที่บอกให้เราทราบว่าเราจะนำคำศัพท์ที่เรารู้มาประกอบกันหรือเรียงกันอย่างไรจึงจะเป็นที่เข้าใจของผู้ที่เราสื่อสารด้วย ส่วนในด้านปัญหาของการแปลนั้นมีมากมาย แต่ปัญหาที่สำคัญ คือ ปัญหาทางโครงสร้าง เพราะถึงแม้ว่าผู้แปลจะรู้คำศัพท์เป็นพันเป็นหมื่นคำ แต่ถ้าหากไม่เข้าใจโครงสร้างการแปลก็จะไม่ประสบความสำเร็จ
ความแตกต่างทางโครงสร้างของภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อนักแปล
1.              ชนิดของคำและประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญ
ชนิดของคำ (parts of speech) เป็นสิ่งสำคัญในโครสร้าง เพราะเมื่อเราสร้างประโยคเราจะต้องนำคำมาเรียงร้อยกันให้เกิดความหมายที่ต้องการสื่อสาร ประโยคจะถูกไวยากรณ์เมื่อเราใช้ชนิดของคำตรงกับหน้าที่ทางไวยากรณ์
ประเภททางไวยากรณ์ (grammatical category) หมายถึง ลักษณะสำคัญในไวยากรณ์ของภาษาใดภาษาหนึ่ง เช่น บุรุษ (person) พจน์ (number) ลิงค์ (gender) การก (case) กาล (tense) เป็นต้น
ประเภททางไวยากรณ์ที่สำคัญสำหรับการเทียบภาษาไทยกับภาษาอังกฤษโดยเรียงลำดับตามชนิดของคำที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.1      การเปรียบเทียบ พบว่า ประเภททางไวยากรณ์ที่เป็นลักษณะสำคัญหรือลักษณะที่ทีตัวบ่งชี้ (marker)ในภาษาอังกฤษแต่กลับเป็นลักษณะที่ไม่สำคัญหรือไม่มีตัวบ่งชี้ในภาษาไทย ได้แก่ บุรุษ (person), พจน์ (number), การก (case), ความชี้เฉพาะ (definiteness) และ การนับได้ (countability)

บทที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล

บทที่ 1
ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับการแปล
ความสำคัญของการแปล
                ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่จำเป็นมากเกี่ยวกับการสื่อสารในปัจจุบัน จากการที่การคมนาคมสื่อสารเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก คนต่างชาติต่างภาษามีการติดต่อกันมากขึ้น การแปลจึงมีความสำคัญ เพราะประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างประเทศในด้านต่างๆมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมากที่ผู้ติดต่อจะต้องมีความคล่องแคล่วในด้านการแปลภาษา จึงกล่าวได้ว่าการแปลภาษาสามารถยึดเป็นอาชีพได้และเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอาชีพที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประเทศได้เร็วยิ่งขึ้นโดยเฉพาะทางด้านเทคโนโลยี นอกจากนั้น การแปลจะช่วยลดความไม่เข้าใจกันเนื่องจากการมีวัฒนธรรมแตกต่างกันและสร้างความเข้าใจระหว่างนานาชาติ ทำให้เกิดสันติภาพในโลก                                                                                               
การใช้ภาษาอังกฤษในหน่วยงานต่างๆมีปริมาณการใช้มากที่สุด เพราะ หน่วยงานต่างๆได้ขยายปริมาณ และมีการติดต่อกับชาวต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีตำราเอกสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นแหล่งวิทยาการหลายสาขา
ประเทศต่างๆล้วนมีภาษาที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความจำเป็นในการที่ต้องมีการถ่ายทอดความจากภาษาหนึ่งไปยังอีกภาษาหนึ่งเพื่อให้ประชาชนทั้งสองประเทศที่ใช้ภาษาต่างกันสามารถทำความเข้าใจกันได้
การแปลในประเทศไทย
                การแปลในประเทศไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชส่งโกษาปานไปเฝ้าพระเจ้าหลุยแห่งประเทศฝรั่งเศส จึงมีการฝึกนักแปลประจำราชสำนัก มีการแปลเอกสารต่างๆในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และมีการสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก การแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยเริ่มมีบทบาทสำคัญในสังคมไทยตั้งแต่ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ รวมทั้งความเจริญทางเทคโนโลยี การท่องเที่ยวซึ่งนำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก และในด้านวิชาการต่างๆ เพื่อช่วยให้นักศึกษา นักธุรกิจ และนักการเมืองในการศึกษาหาความรู้หรือเดินทางไปต่างประเทศ จึงส่งผลให้ความต้องการด้านการแปลเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ