กลยุทธ์ในการเรียนภาษา
การสอนภาษาอังกฤษมีความสำคัญและเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากสำหรับการศึกษาในระดับต่างๆ
ซึ่งนอกเหนือจากการสอนภาษาอังกฤษโดยตรง คือ การสอนภาษาอังกฤษในวิชาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแล้ว
ภาษาอังกฤษยังสามารถใช้สอนในรายวิชาอื่นๆได้อีกด้วย ซึ่งถ้านำไปปรับใช้กับวิชาอื่น
ๆได้มากขึ้นเท่าใด ผู้เรียนภาษาอังกฤษก็จะเก่งและเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษมากขึ้นเท่านั้น
ซึ่งส่งผลให้ในยุคที่ภาษาอังกฤษกำลังเฟื่องฟู
ได้มีการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบที่หลากหลายลักษณะมากยิ่งขึ้น คือ มี “โรงเรียนสองภาษา” และ “โรงเรียนสามภาษา”
ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีภาษาอังกฤษเป็นตัวร่วมอยู่ด้วย รวมทั้งมี “โปรแกรมอินเตอร์” ที่ใช้ภาษาอังกฤษล้วนในการเรียนการสอน
นอกจากนี้แล้ว การศึกษานอกระบบที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษในรูปแบบต่างๆ เช่น
การเรียนผ่านวิทยุ โทรทัศน์ และอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วๆไปได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย
การเรียนภาษาจะมีความแตกต่างกับการเรียนวิชาอื่นๆ
ทั่วไป คือ การเรียนภาษาจะมีสองด้านควบคู่กัน คือ ความรู้และทักษะ ซึ่งความรู้ คือ
ภาคทฤษฎี ส่วนทักษะ คือ ภาคปฏิบัติ
การเรียนการสอนภาษาอังกฤษยังคงมีปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานในเรื่องการเรียนการสอน
เพราะผู้เรียนส่วนใหญ่ในทุกระดับยังไม่รู้ภาษาอังกฤษพอที่จะฟัง พูด อ่าน เขียน
และแปลในระดับที่ดีได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง นักเรียนสมัยนี้น่าจะเก่งเพราะมีโอกาสได้พบเห็นและและใช้ภาษาอังกฤษมากกว่าสมัยก่อน
เหตุผลที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอกตัวผู้เรียนคือ
-
โทษครูผู้สอน คิดว่าท่านขาดความรู้
ความชำนาญในการใช้ภาษา และขาดวิธีการสอนที่ได้ผลอย่างแท้จริง
-
โทษตำรา แบบเรียน
และสื่อการเรียนการสอนว่าไม่มีคุณภาพ และไม่ได้มาตรฐาน เพราะมีข้อผิดพลาด บกพร่อง
ไม่น่าสนใจ ไม่นำไปสู่การเรียนรู้ให้เกิดทักษะในการใช้ภาษาอย่างแท้จริง
-
โทษสถานศึกษาและการจัดการเรียนการสอน
คิดว่าในการจัดหลักสูตร มีการให้สัดส่วนในการสอนภาษาอังกฤษน้อยเกินไป
จำนวนรายวิชาภาษาอังกฤษ ทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือกยังไม่เพียงพอ หรืออาจจะอ้างว่า ห้องเรียนมีขนาดใหญ่เกินไป
จนทำให้ผู้สอนดูแลผู้เรียนได้ไม่ทั่วถึง
-
โทษนโยบายของรัฐ
โดยกล่าวว่าขาดทิศทางและยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาภาษาอังกฤษที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีประสิทธิภาพ
-
โทษสภาพแล้วล้อมทางสังคม โดยคิดว่าไม่เอื้อต่อการใช้ภาษาในสถานการณ์จริง
เพราะคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวัน
ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเพื่อความอยู่รอด
ปัญหาดังกล่าวทั้งหมดอาจจะมีส่วนจริงอยู่ไม่มากก็น้อย
อาจจะเกิดจากปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกร่วมอยู่ด้วย
ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมานานแล้ว โดยเฉพาะปัญหาเรื่องผู้สอน
สื่อการเรียนการสอน และการบริหารจัดการ ถ้าหากจะมองในอีกมุมหนึ่งว่า
ในขณะที่ระบบการศึกษาภาษาอังกฤษโดยร่วมมีความอ่อนแอ
ก็ยังมีนักเรียนที่เก่งภาษาอังกฤษอยู่ด้วย ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอก คือ
มีโอกาสใช้ภาษาในสถานการณ์จริงเพราะคบหาคลุกคลีกับเจ้าของภาษามากพอ
และได้ศึกษาจากครูอาจารย์ที่มีความรู้ความชำนาญ
ตลอดจนได้เรียนรู้จากสื่อรอบตัวประเภทที่มีคุณภาพมาตรฐาน ส่วนปัจจัยภายใน คือ เป็นผู้มีความถนัดในการเรียนภาษา
มีเจตคติที่ดีต่อภาษาที่เรียน รวมทั้งมีแรงจูงใจใฝ่รู้ใฝ่เรียน
ประกอบกับมีความทุ่มเทมาก ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า
ตัวผู้เรียนเป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนภาษาที่สำคัญที่สุด ดังคำกล่าวที่ว่า “ภาษานั้นเรียนได้ แต่สอนไม่ได้” การแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ
ผู้เรียนภาษาอังกฤษจะต้องปรับปรุงแก้ไขข้อเสียหรือปัจจัยเชิงลบดังที่กล่าวมาข้างต้น
ผู้เรียนควรจะหันมามองหาข้อดีและประโยชน์จากปัจจัยเชิงบวกให้มากที่สุด
และหันกลับเข้ามาพัฒนาปัจจัยภายใน ด้วยการพึ่งตนเองให้มากขึ้น ซึ่งการจะพึ่งตนเองให้สัมฤทธิผลนั้นจำเป็นต้องดำเนินไปอย่างเป็นระบบ
หรือ มีแบบแผน ดังนี้
1.
กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
2.
รู้จัก จัดเตรียม
และแสวงหาแหล่งความรู้
3.
พัฒนากลยุทธ์การเรียน
4.
ลงมือปฏิบัติ
การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย
จะต้องกำหนดเป็นรูปธรรม คือ จะสามารถทำอะไรได้แค่ไหน (ฟัง พูด อ่าน เขียน หรือแปล)
ภายในกรอบเวลาใด เช่น
·
ภายใน 1 ปี
สามารถชมข่าวภาษาอังกฤษทางโทรทัศน์ได้เข้าใจจนสามารถสรุปสาระสำคัญของเนื้อข่าวได้
·
ภายใน 6 เดือน
สามารถสนทนาขั้นพื้นฐานกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ (เช่น สอบถามความต้องการ
ให้คำแนะนำ บอกทาง ฯลฯ)
·
เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ (วิธีออกเสียง
ความหมาย วิธีใช้ในประโยค ฯลฯ) วันละ 5-10 คำ ทั้งนี้ต้องให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
โดยคำนึงถึงพื้นฐานความรู้ ความถนัด และการจัดสรรเวลา
เมื่อกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายแล้ว ก็จะต้องรู้จัก จัดเตรียม
และจัดหาสื่อและแหล่งความรู้ที่เอื้อต่อการฝึกทักษะด้วยตนเอง เช่น
·
โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
เพื่อการรับชมข่าวและรายการจากต่างประเทศ
·
แหล่งท่องเที่ยว
เพื่อโอกาสที่จะสนทนากับนักท่องเที่ยว
หรือสถานที่ทำงานสำหรับผู้ที่มีเพื่อนร่วมงานเป็นชาวต่างชาติ
·
ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย
และร้านหนังสือที่จำหน่ายหนังสือต่างประเทศ เพื่อหาซื้อตำรา แบบเรียน พจนานุกรม
แถบบันทึกเสียง วีดีทัศน์ ตลอดจนซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ที่สอนหรือประกอบการเรียนภาษา
·
คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต
ซึ่งเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ได้อย่างหลากหลาย
เพราะเป็นฐานข้อมูลใหม่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก
เมื่อรู้จัก
จัดเตรียม และจัดหาสื่อและแหล่งความรู้พร้อมแล้ว ขั้นต่อไป คือ
การพัฒนากลยุทธ์ในการเรียน
เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยตระหนักถึงเรื่องนี้
สามารถนำไปปรับแต่งให้เป็นกลยุทธ์เฉพาะตัวตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคลต่อไป
และอาจนำไปประยุกต์กับการเรียนภาษาอื่นๆ ได้อีกด้วย
กลยุทธ์ในการเรียนภาษามีองค์ประกอบทั้งหมด 10 ประการ ดังนี้
1. ศึกษา
การเรียนภาษาจะต้องเริ่มจากความรู้หลัก
ซึ่งมีอยู่ 2 ด้าน คือ ศัพท์และไวยากรณ์ ศัพท์ คือ
ถ้อยคำที่ใช้แทนความหมาย ส่วน ไวยากรณ์ คือ ระเบียบกฎเกณฑ์ เป็นการนำถ้อยคำมาร้อยเรียงประกอบกันเข้าให้เป็นหน่วยที่ใหญ่ขึ้น
(วลี, ประโยค ฯลฯ)
เพื่อใช้ในการสื่อความหมายที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้
ยังมีความรู้อีก 2 ด้านที่ขาดไม่ได้ คือ
· ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา เช่น
ภาษาคืออะไร มีลักษณะอย่างไร จะเรียนรู้ภาษาได้อย่างไร
จะใช้ภาษาเพื่อสื่อสารได้อย่างไร ฯลฯ
·
ความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชนชาติเจ้าของภาษา
ซึ่งเป็นความรู้ประกอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนภาษาเข้าใจภาษาที่ศึกษาได้อย่างขัดเจน
และช่วยให้สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับเจ้าของภาษาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
อุปสรรคสำคัญในการเรียนการสอนภาษา
คือ ผู้สอนและนักวิชาการบางส่วนบอกให้ผู้เรียนทราบว่า “ภาษาเป็นวิชาทักษะ ไม่ใช่วิชาเนื้อหา” ทำให้ผู้เรียนเข้าใจผิดคิดว่า ในเมื่อภาษาเป็นวิชาที่ไม่มีเนื้อหาให้เรียน
ฉะนั้นการเรียนก็ต้องไม่เรียนเนื้อหาอะไร นอกเหนือจากการฝึกทักษะ
โดยที่ผู้เรียนไม่ใส่ใจว่า จะต้องหาความรู้เรื่องศัพท์และไวยากรณ์
ซึ่งเป็นตัวเนื้อหาหลักของภาษาโดยตรง
2. ฝึกฝน
การเรียนภาษาจะมีความแตกต่างกับการเรียนวิชาอื่นๆ
ทั่วไป คือ การเรียนภาษาจะมีสองด้านควบคู่กัน คือ ความรู้และทักษะ ซึ่งความรู้ คือ
ภาคทฤษฎี ส่วนทักษะ คือ ภาคปฏิบัติ ซึ่งการเรียนแต่ภาคทฤษฎีโดยไม่ฝึกปฏิบัติ
ก็จะส่งผลกระทบทำให้ไม่อาจบรรลุเป้าหมาย คือ สามารถใช้ภาษาได้
การฝึกทักษะทางภาษา คือ
การฝึกพฤติกรรมการใช้ภาษาซ้ำแล้วซ้ำอีกจากข้อมูลความรู้ทางภาษาของผู้เรียนจนสามารถสื่อสารได้ถูกต้องคล่องแคล่ว
ฉะนั้นหากผู้เรียนมีความรู้เนื้อหาภาษาที่บกพร่อง (ใช้คำศัพท์ผิด เรียงประโยคผิด)
แม้ว่าจะใช้ภาษาได้คล่อง ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่าใช้ภาษาได้ดี
ถ้าความบกพร่องของเนื้อหานั้นส่งผลกระทบต่อสาระสื่อสาร จนทำให้ผู้รับสารไม่เข้าใจ
การฝึกฝนภาษาให้ได้ผล จะต้องผ่าน “อินทรีย์” หลายทางควบคู่กัน ดังนี้
- ตา – ดู
ครอบคลุมทั้ง “การอ่าน” เช่น การอ่านตัวหนังสือและข้อความต่างๆ
ซึ่งจะต้องกวาดสายตาอ่านให้ละเอียด และ “การดู” ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วีดีทัศน์
และสื่อมัลติมีเดียทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต รวมทั้ง “การสังเกต”
จะต้องมีการช่างสังเกตอากัปกิริยาและสีหน้าท่าทางในระหว่างการสนทนา
- หู – ฟัง ครอบคลุมการฟังทั้ง “เสียง” และ “น้ำเสียง” ของผู้พูดในการสนทนาต่อหน้าหรือสนทนาทางโทรศัพท์ ฟังบรรยาย
ฟังแถบบันทึกเสียง โทรทัศน์ วีดีทัศน์
สื่อมัลติมีเดียทางคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ซึ่งหากจะให้การฟังเกิดผลดีนั้นจะต้องฟังอย่างตั้งใจ
“ดิฉันได้ฝึกทักษะการฟัง เกี่ยวกับการสนทนาในหัวข้อ English
Conversation 01 จากเว็บไซต์ : https://www.youtube.com/watch?v=UlSVe2ehjls
ซึ่งเป็นการเริ่มต้นฝึกทักษะการฟังที่ดีมากเพราะเป็นสำเนียงที่ฟังแล้วเข้าใจง่าย
และพูดไม่เร็วเกินไป ทำให้ดิฉันฟังแล้วเข้าใจในการคุยโต้ตอบกันของชาวต่างชาติมากขึ้น
เข้าใจว่าคำที่พวกเขาพูดนั้นคือคำว่าอะไร พูดเกี่ยวกับเรื่องอะไรและได้เรียนรู้เกี่ยวกับประโยคคำถามและประโยคคำตอบต่างๆว่าถ้าหากถามแบบนี้จะต้องใช้คำตอบอย่างไร
และการเลือกใช้ประโยคต่างๆได้ถูกต้องและเหมาะสมตามสถานการณ์
รวมทั้งการใช้สำเนียงในการพูดในประโยคต่างๆที่ดิฉันสามารถนำมาฝึกฝนและใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างมาก
ฉะนั้นการฝึกทักษะการฟังในระดับพื้นฐานเป็นความรู้ระดับง่าย (basic)ซึ่งเป็นการฝึกครั้งแรกของดิฉันได้ประสบความสำเร็จ
เพราะดิฉันสามารถฟังบทสนทนาดังกล่าวได้อย่างเข้าใจและสามารถนำมาฝึกฝนทักษะการฟังในบทสนทนาอื่นๆ
รวมทั้งปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้”
- ปาก – พูด หมายถึง การออกเสียง การพูดสนทนา
การอ่านออกเสียง และรวมไปถึงการพูดในที่ประชุม การนำเสนอด้วยวาจา
การกล่าวสุนทรพจน์ การปาฐกถา เป็นต้น
- มือ – เขียน ได้แก่ การเขียน
รวมถึงการใช้อุปกรณ์ทดแทนการเขียนด้วยมือ
เช่น เครื่องพิมพ์ดีด หรือคอมพิวเตอร์
ซึ่งผู้เรียนจะต้องใส่ใจเรื่องแบบแผนที่ถูกต้องในการเขียน คือ ตัวสะกด
การแบ่งวรรคตอน การใช้เครื่องหมายวรรคตอนและเครื่องหมายอื่นๆ การใช้ตัวพิมพ์ใหญ่
ซึ่งทั้งสี่ทางดังกล่าวสอดคล้องกับทักษะการใช้ภาษา
4 ด้าน และนอกจากนี้ยังต้องมีแรงเสริมอีก 2 ทาง คือ
- หัว – คิด หมายถึงสมรรถนะทางด้าน “ปัญญา” ในการคิดพิจารณา- วิพากษ์
– วิจารณ์สิ่งที่กำลังศึกษา
- ใจ – รัก หมายถึง สมรรถนะทางด้าน “จิต” เริ่มด้วยฉันทะ คือใจรักสิ่งที่ศึกษาก่อน
จากนั้นก็มีความหมั่นเพียรในการศึกษา และมีความใส่ใจในสิ่งที่ศึกษา ซึ่งทั้ง 6
ข้อดังกล่าวอาจเรียกว่า “อินทรีย์ 6
ในการเรียนภาษา”
การฝึกทักษะเฉพาะด้าน
โดยลักษณะธรรมชาติของการใช้ภาษา
ก็ต้องอาศัยอวัยวะที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาทำงานประสานสัมพันธ์กัน คือ ตา – หู – ปาก ใช้ในการสื่อสารด้วยวาจา (หู- ปาก ใช้ในการสื่อสารทางโทรศัพท์) ส่วน ตา – มือ
ใช้ในการสื่อสารด้วยลายลักษณ์อักษร (ตา – หู – มือ ใช้ในการจดบันทึก ระหว่างฟังการบรรยาย) เป็นต้น
ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของประเทศไทยมีสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่คล่อง
คือ ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังฝึกใช้ภาษาน้อยเกินไปในทุกทักษะ
โดยเฉพาะทักษะการพูดและการเขียน ฉะนั้นถ้าหากเรามีความรู้อย่างแน่นหนา
แต่ไร้ซึ่งการฝึกฝน การเรียนภาษาเพื่อการสื่อสารก็จะล้มเหลว เพราะไม่มีตัว “ภาษา” ที่จะให้ใช้สื่อสารได้
3.
สังเกต
ผู้เรียนภาษาที่ดีจะต้องฝึกเป็นคนช่างสังเกตมีความละเอียดถี่ถ้วน
รอบคอบในการเรียนและการใช้ภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องใส่ใจในเรื่องที่สำคัญ
ดังต่อไปนี้
- ไวยากรณ์
เช่น สังเกตโครงสร้างของวลีและประโยคว่ามีรูปแบบอย่างไร
และแต่ละรูปแบบใช้ในสถานการณ์ใด, การเรียงลำดับคำ,
การผันรูปกริยาตาม tense
- ศัพท์ เช่น
ชนิดของคำ (ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงตามปัจจัยประกอบท้ายศัพท์ และมีนัยสำคัญทางไวยากรณ์), คำที่มีหลายความหมาย, คำที่มักปรากฏร่วมกัน (collocatiom)
- ภาษาสำเร็จรูป
ได้แก่ โวหาร (expression) ซึ่งใช้สื่อความหมายในสถานการณ์ต่างๆ
ตามความนิยมในการใช้ภาษา (เช่น การทักทาย, การขอบคุณ,
การขอโทษ) สำนวน (idiom)
ซึ่งมีความหมายแตกต่างจากความหมายของถ้อยคำที่นำมารวมกัน รวมทั้ง สุภาษิต (proverb)
ซึ่งใช้แทนถ้อยคำที่ใช้ทั่วไป
4.
จดจำ
ในยุคของการปฏิรูปการศึกษากำลังเฟื่องฟู
มีนักการศึกษาส่วนหนึ่งมองว่าการท่องจำเป็นวิธีการที่ล้าสมัย
ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว “ความจำ” เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกชนิด
รวมทั้งการเรียนภาษาด้วย กิจกรรมการเรียนรู้บางอย่างอาจอาศัยเพียงความจำตามแบบปกติ
คือการปล่อยให้จำได้เองตามธรรมชาติจากการหมั่นฝึกฝนหรือทำซ้ำๆทวนจนจำได้
ซึ่งตรงกันข้ามกับการเรียนภาษา เพราะการฝึกฝนตามแบบปกติจนจำได้เองอาจไม่เพียงพอ
แต่ต้องอาศัย “การท่องจำ” มาเสริม
เนื่องจากเป็นวิชาที่ซับซ้อน แต่ละเรื่องมีความแตกต่างกันมาก
จึงจำเป็นที่จะต้องใช้การท่องจำ
จากการที่คนในปัจจุบันทิ้งการท่องจำ
ก็จะส่งผลเสีย คือ ไม่สามารถใช้รูปคำกริยาที่ผันรูปผิดปกติได้ถูกต้อง เช่น (give
– gave - giving) ซึ่งอาจจะผันผิดเพี้ยนไปเพราะไม่ได้ท่องจำมา
หรือเกิดความสับสนเป็นประจำ เช่น (lie – lay - lain สับสนกับ
lay – laid – laid และ
lie – lied - lied )
ดังนั้น ถ้ามีการท่องจำแล้ว
ก็จำเป็นต้องมีการจดจำด้วย เพราะหลังจากการท่องมาแล้ว ซึ่งจะต้องต่อการจดจำ คือ ไม่ใช่เพียงแค่การท่องปากเปล่าเพียงอย่างเดียว
เราจะต้องจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยเพื่อการจดจำที่ดียิ่งขึ้น
5. เลียนแบบ
ภาษาแต่ละภาษาจะมีสัญนิยม
(convention)
ซึ่งหมายข้อตกลงระหว่างคนที่ใช้ภาษาเหล่านั้นเหมือนกัน จึงจะทำให้สื่อสารกันเข้าใจ
ซึ่งบุคคลเกิดใหม่ที่เริ่มเรียนภาษาแม่ หรือบุคคลที่เริ่มเรียนภาษาต่างประเทศ
ก็จะต้องยอมรับ ศึกษา และใช้ตามสัญนิยมนั้น
ฉะนั้นการเรียนภาษาจึงต้องอาศัยการเลียนแบบตลอดทุกขั้นตอน ดังนี้
- เริ่มจากเด็กที่เรียนภาษา
ย่อมจะต้องหัดพูดตามหรือเลียนแบบภาษาของพ่อแม่และบุคคลอื่นในครอบครัว เพราะเป็นบุคคลที่เด็กใกล้ชิด
และทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันมากที่สุด
- เมื่อเข้าสู่วัยเรียน
นักเรียนนักศึกษาก็จะเลียนแบบภาษาของครูอาจารย์และเพื่อนร่วมชั้น
เพราะเป็นบุคคลที่เด็กใกล้ชิดและทำกิจกรรมต่างร่วมกันมาก
นอกเหนือจากบุคคลในครอบครัวและในสังคม
- เมื่อเรียนสำเร็จและออกมาประกอบอาชีพ
คนในแต่ละสาขาอาชีพก็จะมีภาษาในกลุ่มของตนเองที่จะต้องเลียนแบบและใช้ตาม
เพื่อที่จะสื่อสารกับเพื่อนร่วมอาชีพได้
ข้อแตกต่างสำคัญระหว่างการเรียนภาษาแม่กับการเรียนภาษาต่างประเทศ
คือ
- ผู้ที่เรียนภาษาแม่นั้นจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมของเจ้าของภาษา
จึงมีแหล่งข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องมากกว่า
และมีมากมายเพียงพอที่จะใช้เป็นแบบอย่างในการฝึกฝนภาษาอังกฤษให้เกิดความชำนาญ
- ผู้เรียนภาษาต่างประเทศจะมีความเสียเปรียบเพราะไม่มีการสัมผัส
คลุกคลีกับภาษามาก่อน และมาจากสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร
ซึ่งเป็นการขาด แบบอย่างที่จะทำตาม ทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ
ดังนั้น
พจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษาจึงมีลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากพจนานุกรมสำหรับเจ้าของภาษา
คือ มีการสอดแทรกประโยคตัวอย่างที่แสดงวิธีใช้ถ้อยคำตามภาษาที่มีการใช้จริง
เพื่อให้ผู้ใช้พจนานุกรมสามารถใช้เป็นแบบที่ถูกต้องในการศึกษาและฝึกฝน นอกจากนี้
พจนานุกรมฉบับซีดีรอมยังบันทึกเสียงคำอ่านของคำศัพท์
และมักเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถอัดเสียงของตนเองในระหว่างการฝึกเลียนแบบอีกด้วย
รวมทั้งพจนานุกรมจากสำนักพิมพ์อังกฤษ มีบันทึกเสียงทั้งแบบอังกฤษและแบบอเมริกันให้ผู้ใช้เลือกฝึกได้ตามต้องการ
ซึ่งฉบับหลักๆที่มีจำหน่ายในประเทศไทย เช่น
Oxford Advanced
Learner’s Dictionary of Current English, 6th edition และ
Longman Dictionary of Contemporary English, 4th edition เป็นต้น อีกทั้งพจนานุกรมบางฉบับ
นอกจากจะออกเสียงศัพท์ที่เป็นคำเหมือนอย่างฉบับอื่นๆแล้ว
ยังออกเสียงให้ฟังทั้งประโยคด้วย
6. ดัดแปลง
ผู้เรียนภาษาที่ดีนอกจากมีการเลียนแบบแล้ว
จะต้องรู้จักดัดแปลงให้เข้ากับวัตถุประสงค์ในการใช้ภาษาในสถานการณ์ต่างๆ
ในการดัดแปลงนั้นจะต้องใช้ความรู้เรื่องไวยากรณ์ประกอบกับความรู้เรื่องศัพท์และสำนวนโวหารต่างๆเพราะเป็นพื้นฐานสำคัญ
ในพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษา
จึงให้ข้อมูลทางไวยากรณ์ในรูปของโครงแบบกริยา (verb pattern) หรือโดยใช้รหัสไวยากรณ์ (grammar code) เช่น
· Believe
[+ that] I believe that all children are born with equal intelligence.
ข้อมูลลักษณะนี้จะเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใช้สามารถดัดแปลงถ้อยคำและโครงสร้างที่ปรากฏในประโยคตัวอย่างได้สะดวกยิ่งด้วย
7. วิเคราะห์
การเรียนภาษาในระดับเบื้องต้นจำเป็นต้องอาศัยการเลียนแบบอยู่มาก
แต่เมื่อเรียนในระดับที่สูงขึ้นก็จำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์เข้ามาเสริม
ซึ่งการวิเคราะห์มีได้ใน 3 ระดับใหญ่ๆ คือ
·
ระดับศัพท์ คือ
วิเคราะห์โครงสร้างและความหมายของศัพท์และสำนวน
·
ระดับไวยากรณ์ คือ
วิเคราะห์โครงสร้างและความหมายของวลีและประโยค
·
ระดับถ้อยความ (discourse) คือวิเคราะห์ โครงสร้างและความหมายระหว่างประโยค
ตลอดจนโครงสร้างและความหมายโดยรวม ที่ผู้พูดหรือผู้เขียนต้องการสื่อ
8. ค้นคว้า
ผู้เรียนจะต้องเป็นคนที่ค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย
นอกจากตำ แบบเรียน หรือสื่อการเรียน อยู่เสมอ โดยเฉพาะพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียนภาษา
แหล่งเป็นแหล่งความรู้ที่ให้ประโยชน์อย่างหลากหลาย
ซึ่งการสอนภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังอ่อนในเรื่องการค้นคว้าอยู่มาก
รวมไปถึงครูผู้สอนไม่แนะนำและไม่ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้พจนานุกรม
แต่จะสอนให้ผู้เรียนเดาความหมายจากรูปศัพท์ จากบริบทเป็นส่วนใหญ่
คนไทยส่วนใหญ่มักขาดความมั่นใจในการใช้ภาษา
เช่น การที่คนไทยออกเสียงคำภาษาอังกฤษไม่ถูกต้อง มักมีสาเหตุมาจากการใช้วิธีการเดาจากตัวสะกดตามที่ครูทำให้ดูเป็นตัวอย่างและฝึกออกเสียงตามครู
โดยขาดความรู้พื้นฐานเรื่องระบบเสียงในภาษาอังกฤษและความสัมพันธ์ระหว่างตัวสะกดกับวิธีออกเสียงตามหลักวิชาที่ถูกต้อง
อีกทั้งไม่ได้รับการปลูกฝังนิสัยในการค้นคว้าตรวจสอบให้รู้ชัด ฉะนั้น
เมื่อสภาพในสังคมส่วนใหญ่เป็นเช่นนี้
ผู้เรียนเองจึงต้องตื่นตัวและพึ่งตัวเองให้มากขึ้น
อย่างน้อยก็จะต้องเรียนรู้วิธีใช้สัทอักษร (phonetic alphabet)
ประกอบกับการฟังวิธีออกเสียงจริงโดยเจ้าของภาษาจากแผ่นซีดีรอมที่มาพร้อมกับพจนานุกรมภาษาอังกฤษล้วนสำหรับผู้เรียน
9. ใช้งาน
เมื่อผู้เรียนเรียนรู้ภาษาไปมากพอสมควรแล้ว
ก็จะต้องถึงขั้นการลงมือปฏิบัติใช้จริง เพื่อทดสอบและตรวจสอบว่าความรู้และทักษะที่ได้เรียนมาเพียงพอหรือไม่
ซึ่งสาเหตุเหล่านี้มหาวิทยาลัยต่างประเทศบางแห่ง
จึงมีข้อกำหนดให้นักศึกษาวิชาเอกภาษาต่างประเทศ
ให้ไปเรียนในประเทศเจ้าของภาษาอย่างน้อยภาคการศึกษา
ซึ่งการมีโอกาสไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ ทำให้ได้ภาษาในสภาพจริงอย่างเต็มที่
ได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของเจ้าของภาษา เป็นปัจจัยที่เสริมสร้างแรงจูงใจในการเรียนภาษาได้อย่างดียิ่ง
และทำให้ได้ตระหนักถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตนเอง เนื่องจากได้เรียนรู้ “ของจริง” ซึ่งบางครั้งอาจแตกต่างอย่างมากจากประสบการณ์ในสถานการณ์จำลองภายในชั้นเรียนภาษาในประเทศไทย
10.
ปรับปรุง
ผู้เรียนภาษาที่ดีจะต้องเป็นคนช่างสังเกต
สังเกตอย่างรอบคอบและเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องที่ผู้เรียนเคยได้เห็น
และเคยได้ประสบมา ไม่ว่าจะเป็นศัพท์สำนวน ไวยากรณ์ วิธีออกเสียง หรือในด้านอื่นๆ
เพื่อสามารถนำมาปรับปรุงแก้ไขด้วยการศึกษา ฝึกฝน วิเคราะห์ ค้นคว้า
และหาโอกาสไปทดสอบใหม่
เพื่อวัดความก้าวหน้าหรือพัฒนาการในการใช้ภาษาในด้านนั้นๆให้ดียิ่งขึ้น
ดิฉันคิดว่า ปัญหาด้านคุณภาพมาตรฐานในเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษจะไม่เกิดขึ้นหรือถ้าหากเกิดขึ้นก็แค่เพียงส่วนน้อย
ถ้าหากผู้เรียนไม่เพียงแต่โทษบุคคลอื่นหรือโทษสิ่งรอบข้าง
แต่รู้จักหันย้อนกลับมามองตัวเองว่าตัวเองมีความบกพร่องในด้านใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข
และต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอย่างไร
สิ่งสำคัญที่ผู้เรียนควรปฏิบัติคือการพึ่งพาตนเองในการทำสิ่งต่างๆตลอดจนในการเรียนภาษาอังกฤษจนสัมฤทธิผล
ซึ่งจะต้องมีการดำเนินงานอย่างเป็นแบบแผน เริ่มตั้งแต่การกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายว่าสิ่งที่ผู้เรียนทำผู้เรียนจะให้เกิดผลอย่างไรบ้าง
จากนั้นก็รู้จักเตรียม และแสวงหาแหล่งความรู้
ซึ่งจะต้องหาแหล่งความรู้ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการและสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะพัฒนา ต่อจากนั้นสามารถพัฒนากลยุทธ์การเรียน ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีมาก
เพราะมีการเริ่มตั้งแต่การศึกษาทั้งความรู้ที่สำคัญที่ทุกคนควรรู้ ได้แก่
ศัพท์และไวยากรณ์
และความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับธรรมชาติของภาษา
รวมทั้งความรู้เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมของชนชาติเจ้าของภาษา
จากนั้นเมื่อศึกษาแล้วก็ต้องมีการฝึกฝนโดยผ่าน อินทรีย์ทั้ง 6 คือ ตา หู ปาก มือ หัว และใจ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญทั้งทักษะการดู การฟัง
การพูด การเขียน การคิด และความรัก คือรักในสิ่งที่จะศึกษา
ซึ่งการฝึกฝนทักษะเหล่านี้สามารถเกิดประโยชน์กับผู้เรียนเป็นอย่างมาก ถ้าหากผู้ฝึกมีความตั้งใจและฝึกฝนอย่างจริงจัง
ต่อไปเป็นการสังเกต ผู้เรียนภาษาที่ดีก็จะต้องเป็นคนช่างสังเกตว่า ไวยากรณ์
มีโครงสร้างอย่างไร มีการเรียงลำดับคำอย่างไร และมีการผันรูปอย่างไร
ในด้านของคำศัพท์จะมีการสังเกตว่าคำศัพท์มีกี่ชนิด คำที่มีหลายความหมาย รวมถึงการใช้โวหาร
สำนวน สุภาษิต มีการใช้อย่างไรจึงจะถูกต้อง และจากนั้นก็คือการจดจำ คือ
การท่องจำในเรื่องหรือบทเรียนที่ผู้เรียนต้องการอยากจะรู้ การจดจำอาจจะบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร
ต่อด้วยการเลียนแบบภาษาและการใช้ภาษาจากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวผู้เรียน เมื่อรู้จักเลียนแบบแล้วก็รู้จักนำมาดัดแปลงให้ดีขึ้นตามวัตถุประสงค์และสถานการณ์ต่างๆ
เมื่อรู้จักเลียนแบบแล้วก็ควรมีการวิเคราะห์ว่ามีความถูกต้อง
สมบูรณ์มากน้อยเพียงใด จากนั้นก็มีการค้นคว้าหาความรู้ตามแหล่งข้อมูลต่างๆเพื่อการลงมือปฏิบัติจริงในขั้นการใช้งานเพราะตอนต้นเป็นการรวบรวมข้อมูลและความพร้อมต่างๆ
ฉะนั้นในขั้นนี้คือการนำความรู้ที่ได้รับ
ได้ฝึกฝนมาทดสอบว่าได้รับความรู้ดังกล่าวที่ได้เรียนรู้มานั้นมีเพียงพอหรือไม่
หากมีข้อบกพร่องตรงจุดใดก็จะมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อหาโอกาสทดสอบใหม่เพื่อการพัฒนาที่ดีขึ้น
ดังนั้นการที่จะประสบความสำเร็จในด้านการเรียนภาษาได้จะต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวผู้เรียนเองก่อน
หากจะใช้กลยุทธ์ดังกล่าวก็จะต้องนำมาใช้บ่อยๆ ใช้อย่างสม่ำเสมอและต้องใช้อย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผลสำเร็จ
เพราะองค์ประกอบทั้งหมดมีความเกี่ยวเนื่องและสนับสนุนซึ่งกันและกันทั้งหมด สุดท้ายการเรียนภาษาอังกฤษจะต้องมีทั้งความรู้และทักษะควบคู่กันไป
ถ้าหากผู้เรียนมีกลยุทธ์ที่ดีในการที่จะเรียนรู้ภาษาอังกฤษ มีความตื่นตัวที่จะฝึกฝนอยู่เสมอ
ค้นคว้าหาความรู้อยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญมีการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด ผู้เรียนก็จะประสบผลสำเร็จได้อย่างแน่นอน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น