วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

Learning log (29th October, 2015 - 30th October, 2015 )

Learning log
(29th October, 2015 - 30th  October, 2015  )
"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ"
                การเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดีที่ 29 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการเสวนาวิชาการงานวิจัย ในหัวข้อเรื่อง “Beyond Language Learning” โดย ดร.สุจินต์ หนูแก้ว, อาจารย์สุนทร บุญแก้วและ ผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล เป็นช่วงเริ่มแรกของการอบรม ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก หลายๆท่านที่เข้าอบรมรวมทั้งดิฉันด้วยก็เกิดความสงสัยว่าการเสวนาในครั้งนี้จะออกมาในรูปแบบใด และมีเนื้อที่น่าสนใจและง่ายเข้าใจต่อการเข้าใจมากน้อยเพียงใด มีรูปแบบที่ตรงประเด็นหรือไม่ซึ่งทุกคนที่เข้าร่วมการอบรมก็มีความพร้อมที่จะรับความรู้และแนวคิดต่างๆจากท่านวิทยากรทุกท่านเป็นอย่างดี
      
รายละเอียดที่ดิฉันได้จากการเข้าอบรมในช่วงเช้านั่นก็คือ ท่านผศ.ดร.ประกาศิต สิทธิ์ธิติกุล ได้กล่าวว่า การเรียนภาษาอังกฤษไม่เพียงแค่ศึกษาภาษาเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องศึกษาสิ่งเหล่านี้ควบคู่กันไปด้วยซึ่งมี 5 c คือ 1. communicative(การสื่อสาร) 2. culture (วัฒนธรรม) 3.connection (การเชื่อมโยง) 4.comparison (การเปรียบเทียบ) และ 5. community (ชุมชน) แต่ท่านดร.สุจินต์ หนูแก้ว ได้กล่าวไว้ว่า ครูจะต้องสอนว่าคนในศตวรรษที่ 21 ควรจะมีลักษณะที่จำเป็น คือ 7 c ได้แก่  7C ได้แก่ 1. Critical thinking & problem solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา) 2.Creativity & innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม) 3.Cross-cultural understanding (ทักษะด้านความเข้าใจต่างวัฒนธรรม) 4.Collaboration, teamwork & leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ) 5.Communications, information & media literacy (ทักษะด้านการสื่อสาร สารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ) 6.Computing & ICT literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)และ     7. Career & learning skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) รวมทั้ง ทักษะทั้ง 3R  ได้แก่ 1.Reading (อ่านออก) 2.(W)Riting (เขียนได้) และ 3.(A)Rithmetics (คิดเลขเป็น) และอาจารย์ก็อธิบายต่อเกี่ยวกับกฎการเรียนรู้ของ Bloom ซึ่งมีประโยชน์มากในนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนในปัจจุบัน ส่วนในด้านของ อาจารย์สุนทร บุญแก้ว ท่านก็ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนภาษาอังกฤษให้เกิดผลดี (CLT) นั่นจะต้องรู้ว่า 1.การเรียนภาษาอังกฤษเรียนไปเพื่ออะไร เพราะจะได้เกิดแรงจูงใจในการเรียนสำหรับผู้เรียน 2. กระบวนการในการเรียนภาษาอังกฤษ ว่าเรามีคำศัพท์เพียงพอหรือยัง หรือมีความรู้ในเรื่องหลักไวยากรณ์มากน้อยเพียงใด และ 3. สภาพแวดล้อมจะต้องเอื้อต่อการเรียนรู้ ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้เรียนเรียนรู้ 24 ชม. ทั้ง 7 วัน ซึ่งถ้าเรามีครบทั้ง 3 ข้อ การเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเราก็จะเกิดผลดี และอาจารย์ได้ให้ดูโครงการนักศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นอกสถานที่ที่อาจารย์กำลังจัดทำอยู่เป็นปีที่ 2 ในประเทศมาเลเซียและประเทศสิงคโปร์
จากการเข้าอบรมในช่วงเช้าของวันแรก ดิฉันได้ความรู้ต่างๆมากมาย ดิฉันไม่ผิดหวังเลยที่ได้เข้าอบรม รวมทั้งการอบรมในครั้งนี้ สามารถเปลี่ยนแนวคิดของดิฉันเกี่ยวกับการเรียนการสอนภาษาอังกฤษไปในทางที่ดีขึ้น ทำให้รู้ว่าการเรียนรู้ถึงการเรียนภาษาอังกฤษอย่างไรถึงจะเก่งได้ รวมทั้งมีแนวคิดใหม่ที่ว่า ในปัจจุบันครูจะต้องพยายามและออกแบบบทเรียนให้ตอบรับกับทุกทักษะ เพราะครูจะต้องคำนึงอยู่เสมอว่านักเรียนแต่ละคนมีความถนัดที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถ้าหากครูสามารถทำได้ก็จะเป็นการตอบรับในทุกๆด้านของนักเรียนจะทำให้นักเรียนฉลาดขึ้นในทุกๆด้านด้วย
Learning log
(29th October, 2015 - 30th  October, 2015  )
"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ"
การเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะในช่วงบ่ายของวันพฤหัสบดีที่ 29 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 วิทยากรโดย ผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร อาจารย์ท่านนี้ทั้งสวยทั้งเก่งและมากความสามรถ ซึ่งมีการสอนรายละเอียดเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง, การแปลความหมายของประโยค, รวมทั้งวัฒนธรรมของการใช้ภาษาด้วย ซึ่งการอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ถือเป็นพื้นฐานของการเรียนภาษาอังกฤษ เพราะถ้าหากเราอ่านคำศัพท์ผิดๆถูกๆเราก็จะไม่สามารถเรียนเกี่ยวกับภาษาอังกฤษในเรื่องที่ยากมากขึ้นได้ รวมทั้งเราจะไม่สามารถประสบความสำเร็จในการเรียนภาษาอังกฤษได้ ส่วนการแปลความหมายของประโยคก็เช่นกัน ถ้าหากเราอ่านไม่ถูกต้อง ไม่รู้ความหมายของคำศัพท์ เราก็จะไม่สามารถแปลประโยคต่างๆได้เช่นกัน ในที่นี่ท่านวิยากรได้สอนเกี่ยวกับการอ่านออกเสียงที่ถูกต้อง รวมทั้งหลักในการแปลประโยคภาษาอังกฤษรวมทั้งวัฒนธรรมของการใช้ภาษาซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับครูภาษาอังกฤษ และผู้ศึกษาภาษาอังกฤษจำเป็นต้องรู้เป็นอย่างมาก
จากการเข้าอบรมในช่วงบ่ายของวันนี้ มีเนื้อหาสาระต่างๆมากมาย คือ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ใช้มากที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางที่คนส่วนใหญ่ใช้สื่อสารร่วมกัน และที่ว่าภาษาอังกฤษสำคัญมากเพราะว่าเป็นภาษาที่ใช้ในอินเตอร์เน็ตมากที่สุดเป็นอันดับแรก อาจารย์ศิตา สอนให้ทุกคนอ่านออกเสียงคำศัพท์ให้ถูกต้อง เพราะคำศัพท์บางคำมีความหมายที่หลากหลาย ฉะนั้นเราจะต้องดูที่บริบทของคำนั้นๆ นั่นก็คือ parts of speech ของคำศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ และคำศัพท์ที่คนไทยใช้กันจนชิน แต่ไม่ได้ถูกต้องตามความหมายของภาษาอังกฤษ เป็นเพียงแค่การพูดตามต่อๆกันมาโดยไม่ได้รู้ที่มา หรือคำศัพท์แท้จริงที่ถูกต้อง เช่น คำว่า Xerox ที่คนไทยคิดว่าหมายถึง ถ่ายเอกสารแต่ที่จริงแล้วไม่ใช่  เพราะคำว่า Xerox เป็นเพียงชื่อยี่ห้อของเครื่องถ่ายเอกสาร ที่ถูกต้องคือคำว่า photocopy รวมทั้งการอ่านเน้นเสียงหนักเบาของคำที่มีมากกว่าหนึ่งพยางค์ได้ถูกต้อง จากนั้นเมื่อฝึกอ่านคำศัพท์คำเดียวเสร็จก็ต่อด้วยการอ่านประโยค เพราะประโยคในภาษาอังกฤษ การอ่านเน้นเสียงหนักเบาผิดคำ ก็สามารถทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากผู้พูดต้องการจะสื่อความหมายของคำๆใดเป็นพิเศษก็จะต้องอ่านเน้นเสียงหนักที่คำๆนั้น ในการอ่านออกเสียงคำใดก็แล้วแต่ ทุกคำทุกเสียงมีที่มาว่าเราพูดและเปล่งเสียงนั้นออกมาทางไหนบ้าง นั่นก็คือการศึกษาเกี่ยวกับอวัยวะในการออกเสียง ซึ่งมีทั้งที่เป็น เสียงก้อง (voice) และเสียงไม่ก้อง (voiceless) โดยท่านวิทยากรจะให้ผู้เข้ารับการอบรมออกเสียงตามที่ละคำ และบอกถึงที่มาของเสียงนั้นๆด้วย รวมทั้งการใช้คำศัพท์ที่แตกต่างกันในพื้นที่ต่างๆ ดังนั้นเมื่อเราไปอยู่ที่ต่างบ้านต่างเมือง เราก็จะต้องเรียนรู้การใช้ภาษาของเขาด้วย จากนั้นก็ต่อด้วยกิจกรรมนันทนาการ โดยการเล่นเกม crossword เพื่อเป็นการฝึกความจำในเรื่องของคำศัพท์ต่างๆ และการมีไหวพริบของแต่ละคน และเป็นการแข่งขันกันโดยมีรางวัลเป็นแรงเสริมให้กับผู้ชนะ แล้วเมื่อได้คนชนะ ท่านวิทยากรก็จะให้อ่านคำศัพท์แต่ละคำ และบอกความหมายของคำศัพท์เหล่านั้น ซึ่งกิจกรรมนี้ คุณครูสามารถนำไปปรับใช้ในการสอนภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนได้เพราะได้รับทั้งความรู้และความสนุกสนานด้วย
การอบรมในช่วงบ่ายของวันนี้ดิฉันรู้สึกมีความสุขและสนุกมาก เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ต่างๆมากมายแล้ว เรายังได้ร่วมกันผ่อนคลายด้วยการเล่นเกมซึ่งได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานด้วย ส่วนในเรื่องของการอ่านออกเสียงนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ การเรียนในห้องเรียนเมื่อนักเรียนอ่านผิด นักเรียนก็จะไม่มีความมั่นใจ จึงส่งผลให้นักเรียนไม่กล้าอ่านรวมทั้งไม่กล้าพูดด้วย นอกจากนี้อาจจะมาจากทัศนคติของผู้เรียนที่มีต่อภาษาอังกฤษหรือที่มีต่อครูผู้สอนก็อาจเป็นไปได้ ฉะนั้นครูผู้สอนควรตระหนักและออกแบบบทเรียนที่เอื้อต่อความสามารถของนักเรียนเพื่อนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้จริง ส่วนการใช้เกมเป็นสื่อในการสอนก็เกิดผลที่ดีต่อผู้เรียนเป็นอย่างมาก เช่น เป็นการสร้างเสริมคุณธรรม จริยธรรมและความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์และอื่นๆอีกมากมาย
Learning log
(29th October, 2015 - 30th  October, 2015  )
"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ"
                การเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะในช่วงเช้าของวันศุกร์ที่ 30 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 วิทยากรโดย ผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ในรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างมากเพราะ ครูผู้สอนจะได้นำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอนในอนาคตข้างหน้า เพื่อให้เกิดผลดีต่อนักเรียนอย่างสูงสุด และที่สำคัญเพื่อให้ตรงกับความถนัดของผู้เรียนและสภาพทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 21 ด้วยเช่นกัน รวมทั้งแนวการสอนในรูปแบบที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในการจัดห้องเรียนให้น่าเรียนมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจัดการเรียนการสอนแบบ Flipped Classroom ที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบันเป็นอย่างมาก
                จากการเข้าอบรมในช่วงเช้าของวันนี้ ท่านวิทยากรได้อธิบายเกี่ยวกับวิธีการสอนภาษาอังกฤษในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีดังนี้ 1. วิธีสอนแบบไวยากรณ์และแปล คือ การสอนแบบไม่เน้นการฟังและการพูด แต่เน้นการเรียนไวยากรณ์และการแปลเป็นหลัก 2.วิธีสอนแบบตรง ก็คือ การให้ผู้เรียนได้สื่อสารด้วยภาษาที่เรียนนั้น และเพื่อให้ประสบผลสำเร็จยิ่งขึ้นควรให้ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะคิดเป็นภาษาที่เรียนด้วย 3.วิธีสอนแบบฟัง-พูด ซึ่งเป็นพื้นฐานไปสู่การอ่านและการเขียน ส่วนภาษาที่ใช้จะเป็นภาษาที่เจ้าของภาษาใช้พูดกัน 4.วิธีการสอนแบบเงียบ ซึ่งจะเน้นความรู้ความเข้าใจ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  5.วิธีการสอนตามแนวธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้ที่เลียนแบบการรับรู้ภาษาที่หนึ่งของเด็กเล็ก ซึ่งเป็นการรับรู้ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 6.วิธีการสอนแบบชักชวน คือผู้สอนควรโน้มน้าวให้ผู้เรียนได้ใช้พลังสมองของตนอย่างเต็มที่ 7.วิธีการสอนแบบตอบสนองด้วยท่าทาง เป็นการสอนโดยเชื่อมโยงกับทฤษฎีของการจำในเชิงจิตวิทยา 8.การเรียนรู้แบบร่วมมือ ฝึกให้ผู้เรียนทำงานแบบร่วมมือ 9. การเรียนรู้แบบเน้นภาระงาน เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ภาษาในการปฏิบัติภาระงานต่างๆให้สำเร็จ 10. การเรียนรู้จากการทำโครงงาน ซึ่งเป็นการเน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง 11.แนวการสอนภาษาเพื่อการสื่อสาร และ 12.การสอนที่เน้นสาระการเรียนรู้ คือ การบูรณาการกับจุดหมายของการสอนภาษาและ13.การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งเป็นการสอนที่ใช้วิธีการตั้งคำถาม และกระบวนการแก้ปัญหา และที่สำคัญท่านวิทยากรได้อธิบาย The Flipped Classroom ซึ่งเป็นการสอนที่ได้รับการนิยมมาก คือ ครูจะต้องสอนแต่สิ่งที่สำคัญและฝึกให้นักเรียนสามารถไปต่อยอดองค์ความรู้เองได้ จึงเปลี่ยนจากครูเป็นหลัก โดยให้นักเรียนเป็นหลักแทน
                การอบรมในช่วงเช้าของวันนี้ ดิฉันนั่งฟังโดยตั้งใจและดิฉันคิดว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีมาก ซึ่งการจัดรูปแบบห้องเรียนในแต่ละรูปแบบมีความน่าสนใจมากและเป็นประโยชน์ต่อครูผู้สอนในการจัดห้องเรียนภาษาอังกฤษ เพราะถ้าหากรูปแบบการเรียนมีความหลากหลาย มิใช่มีแค่เพียงรูปแบบเดิมๆ นักเรียนก็จะมีแรงผลักดันในการเรียนมากขึ้น สิ่งเหล่านั้นถือเป็นการเสริมแรงให้กับผู้เรียนในการเรียนภาษาอังกฤษมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะมีนักเรียนที่มีทัศนคติที่ไม่ค่อยดีต่อภาษาอังกฤษ การทีมีรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย การทำความเข้าใจนักเรียนแต่ละคนเพราะว่าพวกเขามีความถนัดไม่เหมือนกัน ฉะนั้นครูไม่เพียงแต่เปลี่ยนแปลงเพียงรูปแบบการสอนเพียงอย่างเดียว แต่ครูจะต้องปรับเปลี่ยนทุกอย่างให้มีความเหมาะสมทั้ง ผู้สอนและผู้เรียนด้วย จึงจะเป็นครูใน ศตวรรษที่ 21 ได้อย่างสมบูรณ์
Learning log
(29th October, 2015 - 30th  October, 2015  )
"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะ"
การเข้าอบรม เทคนิคการสอนภาษาอังกฤษแบบบูรณาการทักษะในช่วงบ่ายของวันศุกร์ที่ 30 เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2558 วิทยากรโดย ผศ.ดร.ศิตา เยี่ยมขันติถาวร ในรายละเอียดเกี่ยวกับการนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริงที่เป็นจริง ที่เป็นในลักษณะของการเล่นเกมภายในห้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ครูกำลังสอนอยู่ รวมทั้งนิทานหรือเรื่องสั้นที่สามารถใช้สอนภาษาอังกฤษกับนักเรียนได้เช่นกัน ท่านวิทยากร สอนดีมากและสอนสนุกสนานมากเช่นกัน ทำให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมโดยส่วนใหญ่ไม่เบื่อหน่ายที่จะฟังการสอนและการบรรยายของท่าน
จากการเข้าอบรมในช่วงบ่าย คือช่วงสุดท้ายของการเข้าอบรม ท่านวิทยากรเห็นว่าผู้เข้าอบรมได้รับความรู้ไปได้มากพอสมควรแล้ว ท่านจึงจัดนันทนาการให้กับผู้เข้าอบรมทั้งหมดในห้อง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนทุกคนตื่นตัวและมีความอยากรู้อยากเห็นเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมแรกที่ท่านวิทยากรให้ทำนั่นก็คือ การเล่นเกมโดยการร้องเพลงโดยเนื้อหาในเพลงจะมีคำศัพท์ต่างๆสอดแทรกอยู่ และครูจะมีท่าทางในการเต้นให้นักเรียนดู ครูร้องและเต้นให้นักเรียนดูจากนั้นครูจะให้นักเรียนจับคู่กันสองคนและร้องเพลงและเต้นไปพร้อมๆกับครู จากนั้นเมื่อเพลงใกล้จบก็จะให้นักเรียนแต่ละคู่เป่ายิ้งฉุปกันเพื่อหาผู้ชนะ จากนั้นผู้ชนะในแต่ละคู่ก็มาแข่งขันกันต่อเพื่อหาผู้ชนะแค่คนเดียวเท่านั้น ซึ่งในขณะที่เล่นเกมนี้ทุกคนดูมีความสุข สนุกสนานเฮฮา การใช้เกมนี้ทำให้เด็กสามารถฝึกจดจำคำศัพท์จากเนื้อเพลงและท่าทางที่ครูได้แสดงให้นักเรียนดู ทำให้มีไหวพริบมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้ และจากนั้นท่านวิทยากรก็เล่านิทานให้ทุกคนฟัง และในขณะที่ท่านเล่า ก็จะมีลูกบอลจำนวน 20 ลูก ส่งต่อๆกันไปจนท่านวิทยากรเล่าจบ ลูกบอลไปตกอยู่ที่ใคร คนนั้นจะต้องออกมาหน้าห้องประชุมเพื่อคิดประโยคคนละประโยคสำหรับเรียบเรียงต่อกันเป็นนิทาน 1 เรื่อง จากการทำกิจกรรมนี้ ทุกคนที่เข้ารับการอบรมก็มีความสุข สนุกสนานมากเช่นกันในการหลบหนีลูกบอลทั้ง 20 ลูก กิจกรรมนี้จะช่วยให้นักเรียนฝึกการฟัง การจดจำคำศัพท์ รวมทั้งการสร้างประโยค แน่นอนคือ ฝึกการใช้ประโยคใน tense ต่างๆ ได้ถูกต้อง โดยครูเป็นผู้แก้ไขข้อผิดพลาดจากการแต่งประโยคของนักเรียน และรวมทั้งการอ่านออกเสียงของนักเรียนด้วย ทั้งนี้นักเรียนจะได้ฝึกการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผลด้วยเช่นกัน

ดังนั้น การเรียนการสอนไม่ใช่เพียงแค่สอนเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้ง นักเรียนก็ต้องการที่จะผ่อนคลาย ฉะนั้นการเรียนการสอนโดยใช้กิจกรรม ดิฉันคิดว่าเป็นการบูรณาการการเรียนการสอนที่ดี เป็นสิ่งที่ดึงดูดใจให้กับผู้เรียน ถ้าหากมีรางวัลเป็นสิ่งตอบด้วย สิ่งเหล่านั้นก็จะเป็นการเสริมแรงให้นักเรียนตั้งใจที่จะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จมากยิ่งขึ้น แต่การใช้กิจกรรมเหล่านี้ไม่ควรใช้บ่อยและนานจนเกินไป เพราะอาจจะทำให้เด็กนักเรียนเบื่อ และไม่เป็นที่ดึงดูดใจของพวกเขาได้มากเช่นกัน วิธีการสอนและทัศนคติของท่านวิทยากรเกี่ยวกับการสอนภาษาอังกฤษถือว่าดีมาก ดิฉันคิดว่าท่านเป็นต้นแบบในการเป็นครูภาษาอังกฤษได้ดีมากคนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น